ประวัติวัด

ประวัติวัดด่านสำโรง
            วัดด่านสำโรง ตั้งอยู่ริมคลองสำโรง เดิมชื่อวัดสำโรง เป็นวัดร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ตกอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่ามาเป็นระยะ ๆ ในหนังสือสมุทรปราการ ของคุณเฉลิม สุขเกษม สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๑๕ กล่าวว่า วัดร้างในอำเภอเมืองสมุทรปราการ ตามที่ได้สำรวจพบมีอยู่เพียง ๒ วัด คือ
            ๑.         วัดสำโรง อยู่เชิงสะพานสำโรง ในตำบลสำโรงเหนือ มีเนื้อที่ของวัดในปัจจุบันเพียง ๑ งาน ๘๓ ตารางวา ซึ่งมีหลักฐานตามโฉนดของทางราชการที่วัดต้องเหลือที่ดินเพียงเล็กน้อยเท่านี้ เนื่องจากถูกรุกล้ำที่ดินมาแต่เดิมเพิ่งจะมาออกโฉนดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐
            ๒.        วัดโบสถ์ อยู่ในตำบลคลองบางปลากด มีเนื้อที่ประมาณ  ๔ ไร่ ๑ งาน ยังมีซากอิฐฐานพระอุโบสถปรากฏอยู่เป็นบางส่วน ในสมัยก่อน ทางราชการกรมราชทัณฑ์เคยใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตนักโทษ วัดร้างดังกล่าวแล้วเข้าใจว่าจะเป็นวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา
            ในสมัยที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยกล่าวว่า พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าตีกรุงแตก ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ นี้ก็ถูกพม่าปล้นสะดมบ้านเรือนราษฎรด้วย จึงน่าจะย่อยยับเป็นอันมากในครั้งนั้น  เป็นเหตุทำให้เมืองสมุทรปราการร้างไปเพราะภัยสงคราม


นามและความเป็นมาของวัด
            เดิมสมัยก่อน แถวละแวกนี้เป็นป่าสำโรง มีหมู่บ้านอยู่หย่อมเดียว ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา จนเจริญเป็นหมู่บ้านใหญ่ได้ชื่อว่าหมู่บ้านสำโรง หรือตำบลสำโรง วัดก็เกิดตามมา โดยชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๓๒๐ ในสมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย
            เมื่อชาวบ้านทำมาหากินเหลือใช้ ก็ได้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างตำบล ในช่วงระหว่างรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ทางราชการบ้างเมืองได้มาตั้งด้านตรวจเรือที่สัญจรไปมาในคลองสำโรง     และเก็บภาษีอากรบริเวณใกล้วัดสำโรงนี้ เพราะสมัยนั้นการสัญจรไปมาต้องอาศัยเรือ (การค้าขายระหว่างกรุงเทพ ฯ กับจังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องใช้เส้นทางคลองสำโรงในการเดินทาง) ละแวกนี้ก็เลยเรียกกันว่า ด่านสำโรง ถัดมาชื่อของวัดก็พลอยเป็นวัดด่านสำโรงไปด้วย แม้ว่าต่อมาทางราชการได้ยกเลิกด่านนี้ไปแล้วก็ตาม

  สภาพวัดสมัยก่อน

            พื้นที่วัดสมัยก่อน เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมในหน้าน้ำบางปี บริเวณของวัดรกชัฏ มีต้นไม่สูงขึ้นอยู่โดยทั่วไป กลางคืนมืดคลึ้ม เงียบวังเวงมาก ไฟฟ้าไม่มีต้องใช้ใต้หรือตะเกียงกระป๋องน้ำมัน เมื่อจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องใช้เรือหรือเดินเท้าในการเดินทาง  ตั้งแต่เริ่มสร้างถนนสุขุมวิทเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ การสัญจรทางบกก็สะดวกขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาสัญจรทางบกมากกว่าทางน้ำ ไฟฟ้าก็เริ่มเข้ามา และทางการได้สร้างสะพานใหญ่ข้ามคลองสำโรง  เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๔๘๐ - ๒ ทำให้การสัญจรติดต่อระหว่างกรุงเทพ ฯ  กับจังหวัดสมุทรปราการสะดวกขึ้น ประชาชนจากสถานที่ต่าง ๆ ได้อพยพเข้ามาอาศัยในบริเวณนี้มากขึ้น  มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้อาชีพทำนาเริ่มน้อยลงไป มีการซื้อขายที่ดินมาสร้างเป็นหมู่บ้าน จนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในปัจจุบันนี้

การพระราชทานวิสุงคามสีมา
          ประมาณว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ราว พ.ศ.๒๓๒๐ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘ เมตร






ลำดับเจ้าอาวาส
            เจ้าอาวาสของวัดด่านสำโรงที่พอจะทราบมีด้วยกัน ๗ รูป คือ
            ๑.         พระอธิการเพิ่ม
            ๒.        พระอธิการจ้อย
            ๓.        พระอธิการเรือน
            ๔.        พระอธิการแย้ม
            ๕.        พระสมุทรเมธาจารย์ ( แจ่ม ) พ.ศ.๒๔๗๗-๒๕๑๗
            ๖.         พระครูสิริเลขการ ( เจือ ) พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๓๓
            ๗.        พระครูวิมลศุภการ ( สัมฤทธิ์ ) พ.ศ.๒๕๓๓ ถึงปัจจุบัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น